กข-47

ประวัติ
            ข้าวเจ้าพันธุ์ กข47 ได้จากการผสม 3 ทางระหว่าง  ลูกผสมชั่วที่ 1 ของสุพรรณบุรี 1 กับ IR64 นำไปผสมกับ CNT86074-25-9-1 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทในฤดูนาปี 2539     ปลูกชั่วอายุที่ 1 ในฤดูนาปี 2540  ปลูกคัดเลือกตั้งแต่ชั่วอายุที่ 2 จนได้เมล็ดพันธุ์ชั่วที่ 3 ที่ศูนย์วิจัยข้าวข้าวชัยนาท ปลูกคัดเลือกชั่วอายุที่ 4-5 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2542 ถึง ฤดูนาปรัง 2542 และปลูกศึกษาพันธุ์ ฤดูนาปรัง 2543 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก นำเข้าเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ฤดูนาปี 2544 – 2545 จากนั้นนำเข้าเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก     ศูนย์วิจัยข้าวข้าวชัยนาท และศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ในฤดูนาปี 2546-2551 นำเข้าเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ในนาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร  ชัยนาท สิงห์บุรี อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2548 ถึงฤดูนาปี 2551 ทดสอบผลผลิตและการยอมรับของเกษตรตั้งแต่ฤดูนาปี 2549 ถึงฤดูนาปรัง 2551 ในนาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร   สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ทดสอบเสถียรภาพผลผลิตในฤดูนาปี 2550              ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก แพร่ อุบลราชธานี สกลนคร สุรินทร์ ปทุมธานี สุพรรณบุรี และพัทลุง คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว  มีมติรับรองพันธุ์ ชื่อ  กข47 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่  28  กันยายน  2553
ลักษณะประจำพันธุ์
            เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงอายุ 104-107 วัน (หว่านน้ำตม) และ 112 วัน(ปักดำ) มีลักษณะกอตั้ง ความสูง 90-100  เซนติเมตร ลำต้นแข็งมาก ใบสีเขียว มุมใบธงกว้างปานกลาง รวงยาว 30.0 เซนติเมตร  ค่อนข้างแน่น  คอรวงโผล่เล็กน้อย  ข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 10.4 มิลลิเมตร กว้าง 2.52 มิลลิเมตร หนา 2.08 มิลลิเมตร ข้าวกล้องรูปร่างเรียว ยาว 7.94 มิลลิเมตร  กว้าง 2.13 มิลลิเมตร  หนา 1.81 มิลลิเมตร ข้าวสารยาว 7.76 มิลลิเมตร  กว้าง 2.05 มิลลิเมตร  หนา 1.73 มิลลิเมตร          มีอมิโลสสูง (26.81%)  ข้าวเมื่อหุงสุกมีลักษณะสีขาวนวลไม่เลื่อมมัน ค่อนข้างร่วนและแข็ง
ผลผลิต   เฉลี่ย 793 กิโลกรัมต่อไร่


กข47

ลักษณะเด่น
              1. ผลผลิตสูง  มีเสถียรภาพดี
              2. ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลดีกว่า กข41 และค่อนข้างต้านโรคไหม้ดีกว่าพิษณุโลก 2
              3. คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดีเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีถึงดีมาก  สามารถสีเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ได้     
พื้นที่แนะนำ   เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทาน ภาคเหนือตอนล่าง สำหรับเป็นทางเลือกของเกษตรกร    ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้
ข้อควรระวัง    อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลชีวชนิดที่ 5 และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากจังหวัดนครปฐม อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระดับสูงเกินไปจะทำให้เกิดโรครุนแรง และค่อนข้างอ่อนแอต่อเชื้อสาเหตุโรคไหม้ในภาคกลาง ไม่ทนอากาศเย็นจึงไม่ควรปลูกในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น